
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
-------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 มาตรา 15 วรรคสี่ และมาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติ
วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นายกรัฐมนตรีโดยคำเสนอแนะของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทาง
ปกครอง ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การคัดค้านว่าประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง
จะทำการพิจารณาทางปกครองเรื่องใดไม่ได้ตามมาตรา 13 ให้ทำคำคัดค้านถึงประธานกรรมการ แต่ถ้าเป็นการคัดค้าน
ตามมาตรา 16 ให้ทำคำคัดค้านถึงผู้ถูกคัดค้าน
การคัดค้านตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือ โดยระบุข้อคัดค้านพร้อมด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เป็นเหตุ
แห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือนั้นด้วย
ข้อ 2 การยื่นหนังสือคัดค้าน คู่กรณีจะยื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับก็ได้ แต่ต้องก่อนได้รับแจ้ง
คำสั่งทางปกครอง
ข้อ 3 ในกรณีที่มายื่นหนังสือคัดค้านด้วยตนเอง คู่กรณีจะยื่นต่อผู้ถูกคัดค้าน กรรมการคนหนึ่งคนใดหรือ
หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการก็ได้
ข้อ 4 ในกรณีที่ส่งหนังสือคัดค้านทางไปรษณีย์ตอบรับ ให้จ่าหน้าซองถึงประธานกรรมการ กรรมการคนหนึ่ง
คนใด หรือหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการก็ได้
ข้อ 5 เมื่อได้รับหนังสือคัดค้านแล้ว ให้ผู้รับจัดให้มีการประทับตรารับ และลงทะเบียนรับไว้เป็นหลักฐานใน
วันที่รับหนังสือคัดค้านตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ และในกรณีที่คู่กรณียื่นหนังสือคัดค้านด้วยตนเอง ให้ผู้รับ
ออกใบรับหรือจัดให้ออกใบรับให้ด้วย
ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้รับหนังสือคัดค้านมิใช่ประธานกรรมการหรือผู้ถูกคัดค้าน ให้ผู้นั้นแจ้งการรับพร้อมทั้งหนังสือ
คัดค้านให้ประธานกรรมการหรือผู้ถูกคัดค้าน แล้วแต่กรณี ทราบโดยไม่ชักช้า
ข้อ 7 เมื่อได้รับหนังสือคัดค้านตามข้อ 3 หรือข้อ 6 แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) ในกรณีคัดค้านตามมาตรา 15 ให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้าน
นั้น
(2) ในกรณีคัดค้านตามมาตรา 16 ถ้าผู้ที่ถูกคัดค้านเห็นว่าตนไม่มีเหตุตามที่ถูกคัดค้านจะทำการพิจารณา
เรื่องต่อไปก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ประธานกรรมการทราบเพื่อเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้านนั้น
ข้อ 8 ในการพิจารณาคำคัดค้าน คณะกรรมการจะต้องให้โอกาสผู้ถูกคัดค้านชี้แจงข้อเท็จจริงและ
ตอบข้อซักถาม และคณะกรรมการอาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสมในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ผูกพันกับ
คำคัดค้านหรือคำชี้แจงของผู้ถูกคัดค้านหรือพยานหลักฐานของคู่กรณี
เมื่อที่ประชุมมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้ประธานกรรมการแจ้งมติที่ประชุมให้ผู้ถูกคัดค้านและคู่กรณีทราบ
โดยไม่ชักช้า
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
ชวน หลักภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 15 วรรคสี่ และมาตรา 16 วรรคสาม
แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า การยื่นคำคัดค้านและการพิจารณา
คำคัดค้านกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน
กฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
|